ค่าระวางเรือ พุ่ง เซ่นปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน

15 กรกฎาคม 2567
ค่าระวางเรือ พุ่ง เซ่นปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน
  • ปัญหาขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐตั้งแพงภาษีสินค้าจีน  ทำค่าระวางเรือปรับขึ้น 3-4 เท่า
  • อัตราค่าระวางเรือโลก ปรับตัวขึ้น 11 สัปดาห์ติดต่อกัน
  • เส้นทางเฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ ทวีปแอฟริกา ฝั่ง West  โดยเฉพาะแอฟริกาใต้  เส้นทางยุโรป ทั้งMediterranean และยุโรปเหนือ สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะฝั่ง West Coast  

ปัญหา"ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์"ยังคงมีอย่างต่อเนื่องทั้งในตะวันออกกลาง ทะเลแดง ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเล ทำให้ต้องเดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกาเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการโจมตีเรือสินค้ารวมทั้งการขนส่งที่คับคั่งบริเวณท่าเรือ เช่น ท่าเรือสิงคโปร์  จีน ทำให้อัตราค่าระวางเรือที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในทุกเส้นทางกว่า 3-4 เท่าตัว กระทบต้นทุนการส่งออก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยซ้ำเติมเพิ่มจากความต้องการสินค้าจากจีนที่มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เหล็ก เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้ส่งอกสินค้าจากจีนเร่งการส่งออกสินค้ามากขึ้น รวมถึงการเติมสต๊อกสินค้าของผู้ค้าปลีกในอเมริกา โดย ช่วงต้นเดือนเม.ย.-19 มิ.ย.67   Shanghai Containerized Freight Index (SCFI )ได้มีการปรับตัวขึ้นถึง 95 % เป็น ,379 ดอลลาร์ต่อTEU

ทั้งนี้ข้อมูลจาก บล.กรุงศรี เผยว่า แนวโน้มอัตราค่าระวางเรือโลก ปรับตัวขึ้น 11 สัปดาห์ติดต่อกัน สัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น 10 % มาอยู่ที่ 5,868 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปีและปรับขึ้นเกือบทุกเส้นทาง

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แสดงความกังวลว่า การปรับขึ้นค่าระวางที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงต่อจากนี้ไป “ชัยชาญ เจริญสุข “ ประธาน สรท. กล่าวว่า  ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือจีโอโพลิติกส์ทำให้ต้นทุนสูง ทั้งราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น รวมไปถึงการจองเรือ ต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือน ปัจจุบัน ต้นทุนค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge)  ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าแต่ยังไม่สูงสุดเท่ากับช่วงโควิดและค่าใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Charge) ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีน ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกว่า 300  %  จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้การส่งมอบสินค้ามีความล่าช้า

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสรท. กล่าวว่า   สถานการณ์ค่าระวางเรือจากเอเชียไปยังตลาดสำคัญในเดือนมิ.ย.มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพ.ค.โดยเป็นการปรับขึ้น 3-4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดปัญหาทะเลแดง เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในทุกเส้นทาง การเร่งการส่งออกของจีน เทรดวอร์รอบ 2 ซึ่งในระยะต่อไปก็จะมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไป

โดยเส้นทางเฝ้าระวังพิเศษที่ค่าระวางเพิ่มขึ้นสูงมากคือ  ทวีปแอฟริกา ฝั่ง West  โดยเฉพาะแอฟริกาใต้  เส้นทางยุโรป ทั้งMediterranean และยุโรปเหนือ สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะฝั่ง West Coast ปัจจุบันค่าระวางเรือเส้นทางส่งสินค้าไปยุโรป สูงขึ้นไปถึง 4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต( USD/TEU ) ส่วนเส้นทางส่งสินค้าไปยังสหรัฐ ค่าระวางฝั่ง West Coast อยู่ 6,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20ฟุต  ขณะที่ค่าระวางฝั่ง East  อยู่ที่  7,500 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต

สำหรับสถานการณ์ค่าระวางในช่วงเดือนมิ.ย.2567 (ข้อมูลจากสรท. อัตราค่าระวางในสัปดาห์ที่ 25/2567 วันที่ 16 มิ.ย. – 22 มิ.ย. 2567 ) ค่าระวางในเส้นทางเอเชียเพิ่มขึ้นในหลายเส้นทาง โดยเส้นทาง Shanghai ค่าระวางเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 100 USD/TEU และ 150 USD/FEU

เส้นทาง Klang ค่าระวางเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 150 USD/TEUและ 250 USD/FEU

เส้นทาง Hong Kong ค่าระวางเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 100 USD/TEU และ 200 USD/FEU

เส้นทาง Japan ค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 400 USD/TEU และ 550 USD/FEU

เส้นทาง Durban ค่าระวางเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 3,900 USD/TEU และ 6,000 USD/FEU

เส้นทางเกาหลี ค่าระวางคงที่ โดยอยู่ที่ 300-350 USD/TEU และ 600-700 USD/FEU

เส้นทางออสเตรเลีย ค่าระวางคงที่ โดยอยู่ที่ 600-700 USD/TEU และ 1,200-1,400 USD/FEU เส้นทาง Europe ค่าระวางในครึ่งเดือนหลังของเดือนมิ.ย. ค่าระวางเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 4,000 USD/TEU และ 7,150 USD/FEU

เส้นทางสหรัฐอเมริกา ค่าระวางในครึ่งเดือนหลังของเดือนมิ.ย.ค่าระวางฝั่ง West Coast เพิ่มขึ้นโดยอยู่ที่
6,200 USD/TEU และ 7,700 USD/FEU ในขณะที่ค่าระวางฝั่ง East Coast เพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 7,670 USD/TEU และ 8,500USD/FEU

ทั้งนี้ สรท.มีข้อแนะนำเบื้องต้นกับผู้ส่งออกดังนี้
1. เจรจาต่อรองกับสายเรือ ในการจองระวางล่วงหน้า เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยที่บ่งชี้แนวโน้มการลดลงของค่าระวาง ณ
ปัจจุบัน
2. การเจรจากับลูกค้า หรือคู่ขายปลายทางในการแก้ไข Term การซื้อขาย
3. ชะลอการส่งมอบสินค้า หรือแก้ไขสัญญาในการซื้อขาย

อัตราค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น หากสถานการณ์ความขัดแย้งและปัญหาในทะเลแดงยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อการขนส่งโลกทางทะเล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งคงต้องจับตากันต่อไปว่า สถานการณ์แบบนี้จะจบลงเมื่อไรแต่ที่แน่ๆ อัตราค่าระวางเรือยังคงแนวโน้มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.